Unit2.pdf

บทภาพยนตร์

เมื่อ จะเริ่มเขียนบทภาพยนตร์ ผู้เขียนบทจะต้องมีแนวคิดและวัตถุประสงค์ที่แน่นอนและเจาะจง ไม่เลื่อนลอย ต้องรู้ว่าเรื่องที่จะเขียนนี้มุ่งเขียนเพื่อใคร ทั้งนี้เพื่อที่จะสามารถหาวิธีการเข้ากลุ่มคนที่ตั้งเป็นเป้าหมายไว้ได้ เช่น การสร้างภาพยนตร์เพื่อเด็กกับการสร้างภาพยนตร์เพื่อผู้ใหญ่ ก็ต้องมีลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ภาษาที่ใช้ แสง สี ดนตรี นอกจากวัยแล้ว อาชีพ เพศ การศึกษา นิสัยใจคอ และวัฒนธรรมของคนดูก็เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณาถึงด้วย นอกจากนั้นจุดสำคัญหรือแกนของเรื่อง Theme คืออะไรก็ควรจะกำหนดไว้ให้ชัดเจน และแกนของเรื่องนี้ควรจะมีเพียงประการเดียว เช่น ถ้าต้องการพูด ความกตัญญูของชายคนหนึ่งซึ่งจะช่วยให้เขาพบกับความดีงามในบั้นปลาย เมื่อตั้งแกนเรื่องไว้แล้วก็จะต้องกำหนดขอบเขตของเรื่องที่จะเขียนว่าควร ประกอบด้วยอะไร กว้างขาวงแค่ไหน แต่ที่สำคัญก็คือ ทุกๆ ฉาก ทุกๆ ช้อตของภาพยนตร์จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะสนับสนุนแกนเรื่องที่ตั้งไว้แล้ว ถ้าหากฉากใดหรือช้อตใดไม่มีส่วนที่จะสนับสนุนแกนของเรื่อง ก็ไม่ควรบรรจุไว้ และเมื่อบรรลุถึงจึงสุดท้ายของสิ่งที่จะพูดแล้วก็ต้องจบเรื่องทันที ถ้ายังขืนต่อเติมไปอีกจะทำให้ขาดความประทับใจคนดู

ความสำคัญของการเขียนบทภาพยนตร์ในขั้นตอนต่างๆ

1. โครงเรื่อง Outline

การเขียนโครงเรื่องย่อ เป็นวิธีที่ทำให้คนเขียนบท สามารถมองเห็นโครงสร้างของหนังได้ตลอดทั้งเรื่อง การเขียนโครงเรื่องย่อ Outline ในครั้งแรกเป็นความพยายามในการทำให้โครงสร้างมีพัฒนาการที่สมบูรณ์ ดังเช่น

1) เปิดเรื่องอย่างไร....

2) ความขัดแย้ง คืออะไร ....

3) ความขัดแย้งพัฒนาไปอย่างไร 1....2....3....

4) ความขัดแย้งนำไปสู่วิกฤตการณ์ อย่างไร ....

5) วิกฤตการณ์นำไปสู่จุดแตกหัก อย่างไร....

6) Climax คืออะไร….

7) สถานการณ์ของ Climax ผ่านไปได้อย่างไร...

8) สถานการณ์ที่คลี่คลายเป็นอย่างไร....

9) หนังจบลงอย่างไร....

2. โครงเรื่องขยาย Film Treatment

โครงเรื่องขยาย Film Treatment เป็นการขยายออกมาจาก Outline ขยายให้เห็นเป็นฉาก ขายให้เห็นเป็นเหตุการณ์ ดังนั้น Treatment จึงจำเป็นต้องให้รายละเอียด เพื่อให้เห็นภาพของฉาก เหตุการณ์ หรือสถานการณ์

Treatment จึงไม่ใช่การเขียนคร่าวๆ

แต่เป็นการเล่า รายละเอียดให้เห็นว่า ใคร ทำอะไร อย่างไร รู้สึกอย่างไร การเขียน Treatment ที่มีรายละเอียดที่ดี นำไปสู่การเขียนบทแสดง ที่ง่าย Film Treatment คือการเล่าเรื่อง เหมือนใครสักคนกำลังเล่าเรื่องที่เกิดกับคนอื่น และเมื่อเอาไปเขียนบทแสดง Screenplay บทแสดงนั้น คือการที่ตัวละครกำลัง แสดงเรื่องของตนเอง หรือเล่าเรื่องของตนเองโดยการแสดง

3. บทภาพยนตร์ หรือ บทแสดง Screenplay

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า บทแสดงนั้นคือการที่ตัวละครกำลัง แสดงเรื่องของตนเองหรือเล่าเรื่องของตนเองโดยการแสดง

หลักสำคัญของ บทแสดง Screenplay จึงเป็นการแสดงให้เห็น

เมื่อมีรายละเอียดจาก Treatment แล้วว่า ฉากใด เกิดเหตุการณ์ หรือสถานการณ์ขึ้นอย่างไร คนเขียนบทจะต้องคิดถึงตัวละครที่ประกอบด้วยบุคคลลักษณะ ตามที่ได้กำหนด แล้วคิดว่าตัวละครจะทำ หรือ พูด หรือ มีปฏิกิริยาอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วถ่ายทอดโดยการเขียนออกมาเป็นภาพของเหตุการณ์ที่มีการกระทำ การพูด หรือ ปฏิกิริยา ย่างแท้จริงของผู้ที่มีบุคคลลักษณะ เช่นนั้น

1) Screenplay จะต้องไม่ลืมสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อตัวละคร เช่น เสียงหัวเราะ จากเพื่อนๆ สายตาที่มอง เหล่านี้มีผลต่อการกระทำของตัวละครทั้งหมด

2) Screenplay ที่ดีจะต้องแสดงให้เห็น เห็นการกระทำต่างๆของตัวละคร เห็นความรู้สึกในการกระทำ เห็นอารมณ์ของฉาก เหตุการณ์นั้นๆ

4. บทเพื่อการถ่ายทำ Shooting Script

บทเพื่อการถ่ายทำ Shooting Script เขียนขึ้นเพื่อการผลิต หรือ การถ่ายทำ ผู้เขียนบทจะต้องคิดถึงภาพที่ออกมา จาก การกระทำใดๆ ของตัวละครใน ฉาก เหตุการณ์ สถานการณ์ตามที่บทแสดงได้เขียนเอาไว้

หลักสำคัญของ Shooting Script ก็คือ การคิดถึงเฟรม หรือ จอภาพยนตร์ ที่จะมีหนังฉาย ภาพในจอที่คนดูเห็นคือภาพอะไร คนเขียนบทเหมือนกับคนที่ดูหนังเรื่องนั้นเป็นคนแรก ภาพ เสียงเป็นอย่างไร นั่นคือสิ่งที่คนเขียนบทเอามาถ่ายทอดต่อ ลงบน Shooting Script คนเขียนต้องเข้าใจและมีพื้นฐานของภาษาภาพยนตร์ ในการนำไปใช้ให้บรรลุวัตถุประสงค์ เช่น ขนาดภาพ การเคลื่อนกล้อง มุมกล้อง จะถูกนำไปใช้อย่างไรในฉากต่างๆ

สิ่งที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนภาพ Transition คนเขียนบทต้องคิดถึง ภาพที่ปรากฏอยู่และการเปลี่ยนไปสู่ภาพใหม่ หรือ ฉากใหม่ ว่าเชื่อมโยงกันอย่างไรต้องการความกลมกลืน หรือ ต้องการความขัดแย้ง โดยมีจุดมุ่งหมายให้หนังมีความต่อเนื่องกันไปมากที่สุด

สิ่งที่ควรระบุไว้ในบทภาพยนตร์

1. ช้อต คือการถ่ายแต่ละครั้งโดยไม่มีการหยุดกล้อง อาจจะมีการเคลื่อนไหวของกล้อง เช่น แพน ทิลท์ ดอลลี่ หรือมากการเคลื่อนไหวของซับเจ็ค เช่น คนเดิน รถวิ่ง แต่ตราบใดที่ยังกดชัตเตอร์ต่อเนื่องกันไปก็ยังนับเป็นช้อตเดียวกันอยู่

ขนาดของภาพหรือมุมรับภาพของแต่ละช้อตจะแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะห่างระหว่างกล้องกับซับเจ็ค โดยทั่วไปสามารถแยกออกเป็น

- ภาพไกลมาก

- ภาพไกล

- ภาพไกลปานกลาง

- ภาพใกล้ปานกลาง

- ภาพใกล้

- ภาพใกล้มาก

2. ฉาก ช้อตหลายๆช้อตที่มีความต่อเนื่องเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกันเมื่อนำมารวมกันเข้าจะเป็นฉาก ดังนั้น ฉากๆ หนึ่งจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันในที่แห่งหนึ่ง

3. ตอน ฉากหลายๆ ฉากที่มีความต่อเนื่องกันเมื่อนำมารวมกันก็เป็นตอนซึ่งเทียบได้กับบทๆ หนึ่งในนวนิยาย เช่น ฉากผู้ร้ายวางแผน ฉากปล้น ฉากฉลอง ฉากเหล่านี้เกิดขึ้นในที่ต่างกัน แต่มีความสัมพันธ์กันด้านเนื้อเรื่อง

4. ภาพพลิกแพลง เช่น ภาพจางเข้า ภาพจางออก ภาพกวาด และภาพซ้อนภาพพลิกแพลงเหล่านี้ผู้เขียนบทภาพยนตร์ควรเขียนกำหนดไว้ในบทภาพยนตร์ด้วย

5. มุมกล้อง มุมกล้องที่ใช้ในภาพยนตร์สามารถแบบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ

-มุมระดับสายตา

- มุมสูง

-มุมต่ำ

6. คำบรรยายการแสดง เป็นส่วนที่จะบอกรายละเอียดว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้านงในแต่ละช้อต

7. เสียง ซึ่งได้แก่บทสนทนา เสียงประกอบ คำบรรยาย เพลง และเสียงอื่นที่ผู้เขียนต้องการให้คนดูได้ยินระหว่างชมภาพยนตร์

บทสรุป

การเขียนบทในแต่ละขั้นตอนมีประโยชน์และจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน ความเข้าใจว่าแต่ละขั้นตอนทำไปเพื่ออะไรช่วยให้เขียนบทได้ง่าย สมบูรณ์ การเขียนบทที่เป็นไปตามขั้นตอน ช่วยให้การพัฒนาบทเป็นไปอย่างราบรื่น การละเลยขั้นใดขั้นตอนหนึ่งทำให้ผลงานขาดความสมบูรณ์

เมื่อเราได้บทภาพยนตร์มาแล้ว คราวนี้จะเป็นการเตรียมงานเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ จะต้องมีการประชุมงาน เพื่อแบ่งหน้าที่ต่างๆเช่น

ผู้กำกับ Director

ผู้ช่วยผู้กำกับ Assistant Director

ผู้กำกับภาพ Director of Photography

ผู้กำกับศิลป์ Art Director

และฝ่ายต่างๆอีกมากมาย

ในขั้นตอนนี้ ผู้ช่วยผู้กำกับ เป็นคนดำเนินงานซะส่วนใหญ่ จะมีขั้นตอนดังนี้

นัดประชุมทีมงาน

ก่อนที่จะถ่ายทำภาพยนตร์ จะต้องมีการประชุมเพื่อคุยรายละเอียดต่างๆ ผู้กำกับจะอธิบายบทให้ทีมงานเข้าใจ และอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอะไรก็ควรจะเสนอแนะกันในตอนประชุม เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมทุกคนก็จะต้องทำหน้าที่ต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย

หาสถานที่ถ่ายทำ(Location)

เมื่อบทภาพยนตร์พร้อมถ่าย ผู้กำกับต้องการสถานที่แบบไหน ทีมงานก็จะต้องหาสถานที่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้กำกับ เพื่อให้ดูสมจริง น่าเชื่อถือ และออกมาสวยงาม

หานักแสดง(Casting)

การหานักแสดงต้อง ให้บุคลิกของตัวละครออกมา ตามที่ผู้กำกับต้องการ

เตรียมอุปกรณ์ประกอบฉาก

หน้าที่นี้จะเป็นของผู้กำกับศิลป์ที่จะต้อง ดูบทแล้วทำเข้าใจ ต้องดูว่าฉากไหนต้องมีอุปกรณ์แบบไหนอยู่ในฉาก แล้วจัดเตรียมไว้สำหรับการถ่ายทำที่จะเกิดขึ้น และต้องเป็นไปตามที่ผู้กำกับต้องการ ในบางฉากอาจจะต้องเตรียมไว้สำรองเช่น หมวกที่จะต้องเลาะเลือด เพราะอาจจะเกิดการพลาดแล้วต้องถ่ายใหม่ เพราะฉนั้นจำเป็นที่จะต้องเตรียมอุปกรณ์ไว้สำรองเพื่อทดแทนกันได้

การWorkshop ทีมงาน นักแสดง

หากการถ่ายทำต้องมีเทคนิคพิเศษ เช่น ฉากแอคชั่นต้องมีระเบิด ฉากนักแสดงถูกรถชน ต้องมีการมาเตรียมก่อนว่าจะใช้เทคนิคอย่างไร ทีมงานจะต้องรับผิดชอบในหน้าที่นี้ เพื่อความปลอดภัยของทุกคน

ส่วนนักแสดง ก็ต้องมาพบปะพูดคุยกัน เพราะส่วนใหญ่แล้วนักแสดงจะไม่รู้จักกัน ก็จะต้องมาพูดคุย ซ้อมบทคร่าวๆ เพื่อจะได้ไม่เขินอายในวันที่ถ่ายจริง

กำหนดวันถ่ายทำภาพยนตร์

ผู้ช่วยผู้กำกับจะต้อง ดูว่าทุกฝ่ายว่างตรงกันเมื่อไร วันที่ถ่ายเหมาะสมกับสภาพ ลม ฟ้า อากาศ หรือไม่ เหมาะสมกับสถานที่ ที่จะไปถ่ายทำหรือไม่ เช่น ถ่ายฉากในโรงเรียน หากต้องการความสงบก็ควรจะถ่ายในวันเสาร์-อาทิตย์ แต่ถ้าต้องการให้เห็นบรรยากาศของนักเรียนก็ควรจะถ่ายวันจันทร์-ศุกร์